สดจากย่างกุ้ง วัฒนธรรมทางการเมืองพม่าเปลี่ยนไปจริงหรือ? (ชมโปสเตอร์หาเสียงThe lady)

ก่อนการเลือกตั้งในพม่า วันที่ 1 เมษายน 2555  การเลือกตั้งที่ทั่วโลก จับตามองว่า จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่หรือแค่ละครสลับฉาก  "สมศรี หาญอนันทสุข" เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (มูลนิธิอันเฟรล)  เดินทางเข้าไปสังเกตการณ์บรรยากาศการเมืองก่อนการเลือกตั้ง     เธอส่งรายงานมายัง "มติชนออนไลน์" จากกรุงย่างกุ้ง

มีบทพิสูจน์ระดับหนึ่งถึงการเปลี่ยนไปของบรรยากาศทางการเมืองพม่าก่อนการเลือกตั้งวันที่ 1 เมษายนนี้  นั่นก็คือการแก้ไขกฏหมายเปิดทางให้นาง อองซานซูจี หรือที่เรียกนามเธอทั่วๆไปกันในประเทศว่า “the lady” ลงแข่งขันเลือกตั้งโดยสมัครในนามพรรค สันนิบาต แห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy) หรือ พรรค NLD ได้ทำให้ประเทศพม่ามีสีสรรค์ขึ้นบ้าง

 แม้จะเป็นการเลือกตั้งซ่อมใน 10 เขต สำหรับที่นั่งที่หายไปเพราะสส. 48 คนได้ถูกแต่งตั้งไปอยู่ในตำแหน่งต่างๆของรัฐบาลก็ตาม มีการประเมินกันว่า แม้ว่า พรรค NLD จะไม่ได้หวังมากว่าจะได้ที่นั่งในเขตเมืองหลวงใหม่ Nay Pyi Daw แต่โดยรวมก็น่าจะได้ที่นั่ง 30 ที่นั่งขึ้นไป จาก 48 ที่นั่งในครั้งนี้ เมื่อดูจากเสียงขานรับของคนพม่า

เป็นครั้งแรกที่เห็นการรณรงค์ติดโปสเตอร์ สติกเกอร์ และขายเสื้อยึด ธงประจำพรรค และปฏิทินที่มีรูปของเธอสวยงาม  และก็มีรูปของนายพลอองซาน ติดอยู่ทั่วไปด้วย มันช่างต่างจากอดีตที่ผ่านมาเมื่อไม่นานที่สถานที่ และบ้านเรือนต่างๆจะไม่สามารถติดรูปพวกนี้ได้เลย  ในอดีต การพูดคุยทางการเมืองก็เป็นไปอย่างลับๆล่อๆ แต่ตอนนี้ทุกคนสามารถคุยการเมืองได้อย่างเปิดเผย และสามารถเดินเข้าออกพรรค NLD ได้ตลอดเวลา

พม่าในวันนี้ จะมีองค์กรนานาชาติ นักท่องเที่ยว และนักลงทุน จากต่างประเทศจำนวนมากทะลักเข้าไปทำงานช่วยเหลือ และเริ่มมีธุรกิจหาผลประโยชน์อย่างมากมาย  โรงแรมต่างๆมีชาวต่างชาติจองไว้เต็มไปหมด

แต่ก็มีนักกิจกรรมต่างชาติที่เริ่มตั้งคำถามเช่นกันว่า  การเมืองที่ยึดติดตัวบุคคล เพียงคนเดียว อย่างนี้ จะช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคงอย่างไร คือหากไม่มี อองซานซูจี แล้วจะมีใครที่เป็นหลักยึดในการต่อสู้ด้านประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งอีกต่อไปบ้างมั้ย

เราได้คำตอบว่า….ไม่มี!!!

แต่นักกิจกรรมที่มีความหวังได้ชิงตอบคำถามทันควันว่า ก็ นาย มิงโกนาย ไงล่ะ

เผอิญนาย มิงโกนาย ซึ่งเคยเป็นผู้นำนักศึกษาที่ติดคุกมาเป็นเวลาหลายปีมาก กลับไม่สนใจที่จะเป็นนักการเมืองที่ลงแข่งเลือกตั้งในครั้งนี้  ส่วนคนพม่าที่สำคัญๆก็อยู่ในต่างประเทศซึ่งคนพม่าก็ไม่ค่อยทราบบทบาทและไม่รู้จัก  ดังนั้นการมองหาผู้นำคงจะต้องดูที่การเมืองหลังการเลือกตั้งซ่อมกระมัง

สภาพการเลือกตั้งซ่อมดังกล่าวไม่มีความน่าสะพรึงกลัวมากอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อปี2553 การตรวจตราของเจ้าหน้าที่ด้านงานปิดและเปิดลดหายไปจากสถานที่ต่างๆ  การเข้าไปจับมือของบรรดาผู้นำนานาชาติที่เข้าไปกับแย่งกันสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลและผู้นำอย่าง “Daw Suu” ทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองของพม่าเริ่มเปลี่ยนไป

แม้ว่าประธานาธิปดี และ กกต. ที่เมืองหลวงใหม่ ยังไม่มีท่าทีเปิดไฟเขียวกับการให้ต่างชาติเข้าไปสังเกตการณ์อย่างอิสระตามที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซี่ยน และบรรดานักการทูต นักข่าว อยากให้เป็น แต่ต่างชาติที่สนใจการเมืองหลายคนในประเทศพม่า ก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยในมุมมองที่เป็นกลางว่า  การที่สื่อมวลชนห้อมล้อมทำข่าวที่พรรคใหญ่ และตีพิมพ์ข่าวของพรรค NLD และนางซูจี เพียงอย่างเดียว จะเป็นการส่งเสริมให้มีนิสัย ธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่

หรือจะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประชาชนเสพติดผู้นำเพียงคนเดียว และทำอะไรก็ถูกไปหมดในอนาคตหรือเปล่า  เรื่องนี้พรรค National Democratic Force (NDF) และพรรค National Unity Party (NUP) กับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆที่นางซูจี ไม่ยอมร่วมเป็นพันธมิตรด้วย ไม่เข้าใจสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศเป็นอย่างยิ่ง  ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เห็นที่ทำการพรรค NDF ดูเหงาหงอยไปกว่าเมื่อสองปีที่แล้วเป็นอย่างมาก

สำหรับพรรครัฐบาลที่มีทหารหนุนหลังอย่างUnionSolidarity and Development Party หรือ USDP นั้น คงไม่ต้องพูดถึง เพราะมีสื่ออยู่ในมือทุกแขนงที่ตีพิมพ์กิจกรรมของรัฐบาล และการตอบกระทู้ถามในรัฐสภาทุกวัน  ทุกข่าวหน้าหนึ่งของ นสพ. ท้องถิ่นได้สร้างความได้เปรียบให้กับผู้สมัคร รัฐบาลอยู่แล้ว  และยิ่งไปกว่านั้นยังได้เรียนรู้ในการใช้นโยบายประชานิยมจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซี่ยนได้อย่างดี

ดังตัวอย่างล่าสุดที่ได้จากกลุ่มนักศึกษาแจ้งว่าพรรคUSDP ให้ชาวบ้านในหลายเขต สามารถกู้เงินได้จากงบประมาณของรัฐ บนเงื่อนไขว่าต้องเลือกผู้สมัครของพรรค USDP เท่านั้น ไม่เช่นนั้นความเดือดร้อน และปัญหาที่เกิดกับตนหรือครอบครัว ก็จะตามมาหลังการเลือกตั้งนั้น ไม่ถือว่าเป็นการซื้อเสียง  

ผู้ศึกษาการเมืองการเลือกตั้งได้ตั้งข้อสังเกตุต่อไปอีกว่าความไม่ชัดเจนต่อวิธีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้เป็นประเด็นค้างคาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2010 มาแล้วว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่

เรื่องนี้เป็นคำถามที่ตั้งไว้กับการนับคะแนนด้วยเช่นกัน  หากตัวแทนพรรค (Party agents) ที่ กกต.พม่า อนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์หน่วยเลือกตั้งได้ ทำความเข้าใจบทบาทเนื้อหากระบวนการเลือกตั้งได้อย่างดี

และหากภาคประชาสังคมตื่นตัวมากพอที่จะถ่วงดุลย์กับประชาธิปไตยที่เป็นอยู่แบบนี้เราเชื่อว่าพรรคNLD เองก็อาจจะได้ที่นั่งเกิน 30 ที่นั่งได้ตามคาดหมายจริง 

ขณะที่พรรคเล็กๆ ซึ่งดูความสัมพันธ์อาจไม่แนบแน่นกับ NLD ซะแล้วในช่วงนี้ ก็จับตามองพรรคที่กำลังจะเป็นผู้นำฝ่ายค้านใหญ่สุดของนางซูจีเหมือนกันว่า คนของพรรคนี้จะไปทำในสิ่งที่ละเมิดกฏหมายหรือไม่ตรงไปตรงมาเสียเองด้วยหรือไม่.

Share:

Get Updates

Loading

Members

[logoshowcase]